จากบั๊กตัวเล็กๆไม่กี่ตัว พัฒนาสู่บั๊กหลายตัว เดือดร้อนถึง Patch File เพื่อใช้ในการปะผุ จนกระทั่ง ServicesPack เป็นที่แน่ใจได้เลยว่าโปรแกรม ไร้บั๊ก เป็นแค่โปรแกรมในอุดมคติเท่านั้น และจะพิชิตบั๊กอย่างไรดี
ว่ากันด้วยเรื่องการปะผุ (Patch และ Services Pack) ว่ากันว่า บั๊ก (Bug) นั้นเกิดมาพร้อมกับโปรแกรมที่เขียนออกมาทีเดียว ยิ่งโปรแกรมซับซ้อนเท่าไร โอกาสที่จะมีบั๊กก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เรื่องของบั๊กตามที่ผมได้ฟังมานั้น มันเหมือนกับโจ๊กในวงการตลกของฝรั่งเขาแหละ สนุกแต่เศร้าเคล้าน้ำตา เรื่องมีอยู่ว่าสมัยที่คอมพิวเตอร์ยังมีขนาดเท่าห้องประชุมย่อมๆ และใช้หลอดสูญญากาศในการทำงาน (ยังไม่ถึงสมัยของทรานซิสเตอร์ ดังนั้นจึงไม่ต้องพูดถึงชิปหรือไอซี) มีวันหนึ่งวิศวกรก็สั่งให้คอมพิวเตอร์ดังกล่าวประมวลผล ปรากฎว่าสั่งอย่างไร มันก็ไม่ประมวลผล หรือประมวลผลออกไม่ตรงกับที่คาดหมาย คล้ายๆจะเบลอหรือสมองเสื่อม วิศวกรก็ค้นหากันใหญ่ว่าเกิดอะไรขึ้นกับคอมพิวเตอร์หรือชุดคำสั่งประมวลผล (โปรแกรม) หลังจากพยายามครั้งแล้วครั้งเล่าก็ตรวจไม่พบ ในที่สุดวิศวกรคนหนึ่งก็เข้าไปดูในส่วนของฮาร์ดแวร์ และพบว่าแมลงตัวหนึ่งเกาะที่ขาหลอด ก็เลยจับเอาแมลงที่เกาะติดกับขาของหลอดสูญญากาศออกมา พร้อมกับตะโกนว่า บั๊ก บั๊ก พอจับเอาแมลงออกไปก็เป็นอันว่ารันโปรแกรมได้ตามปกติ ดังนั้นชื่อของบั๊ก อันแปลความหมายเป็นไทยว่าแมลง จึงถูกนำไปเรียกสาเหตุความผิดพลาดนาประการเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
เกี่ยวกับบั๊กในยุคก่อนนั้น ดูเหมือนว่าจะไม่ใคร่ได้รับความสนใจนัก เนื่องจากบั๊กนั้นไม่ส่งผลกระทบต่อการทำงานหรือผลไม่เด่นชัด โปรแกรมสมัยก่อนไม่ซับซ้อน แต่ปัจจุบันบั๊กเป็นของแถมที่ให้มาฟรีเมื่อซื้อซอฟต์แวร์เลยทีเดียว สังเกตได้ว่าหากมีโปรแกรมใดๆออกมาใหม่ เมื่อผ่านไปได้สองสามเดือน ผู้ผลิตจะได้รับรายงานผลจากผู้ใช้งานว่า เกิดปัญหาเกี่ยวกับการใช้งานซอฟต์แวร์ตรงนั้นตรงนี้ ทางผู้ผลิตก็จะเริ่มตรวจสอบและแก้ไขไปด้วย ซอฟต์แวร์ในระยะต่อมาก็จะเป็นชุดที่ได้รับการแก้ไขบั๊กดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว หรือหากมีการแก้ไขมากกว่าเดิม ผู้ผลิตก็มักจะเปลี่ยนชื่อเวอร์ชั่นหรือชื่อรุ่นไป เช่น ไมโครซอฟต์เวิร์ด 6.0 พอแก้บั๊กครั้งต่อๆไป ก็เป็น MS Word 6.0a , 6.0b , 6.0c แต่มาพอมาระยะหลัง ความซับซ้อนของซอฟต์แวร์มีมากขึ้น ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีของคอมพิวเตอร์เป็นไปอย่างเร็วมากขึ้น จากการแก้บั๊กรุ่นอัปเกรดเวอร์ชั่น ก็ก้าวเข้าสู่ Services Pack ซึ่งหมายถึงชุดรวมของซอฟต์แวร์ที่ออกมาเพื่ออัปเดท ด้วยและแก้บั๊กที่เคยมีอยู่ด้วยพร้อมกันเลยทีเดียว
เกี่ยวกับซอฟต์แวร์แก้บั๊กนั้น เมื่อผู้ผลิตซอฟต์แวร์แก้ไขได้มากพอสมควร ก็จะนำเอาชุดโปรแกรมสำหรับแก้บั๊ก ซึ่งเรียกว่าเป็นชุดปะผุบ้าง อัปเดทบ้าง แจกผู้ใช้โดยไม่คิดมูลค่ากันเสียที (ก็เวลาบั๊กยังแจกฟรี เวลาแจกยากำจัดก็ควรจะแจกฟรีด้วยสิครับ) นี่คือที่มาของ Services Pack เช่น Windows 95 Services Pack 1 หรือ Windows NT 4.0 ซึ่งมีถึง Services Pack 3 เข้าไปแล้ว MS Office 7.0 ก็เช่นเดียวกันมีชุด Office Services Pack, PC Anywhere For 95 , Adobe Aldus Photoshop Services pack..คราวนี้ หลายๆคนเริ่มอาจถามว่า แล้วควรจะติดตั้ง Services Pack เหล่านั้นลงไปหรือไม่ คำตอบก็คือ ให้ตรวจสอบกับเอกสารก่อนว่า สิ่งที่เขาแก้ไขมานั้นเป็นส่วนที่ผู้ใช้เองประสบปัญหาอยู่หรือไม่ หากไม่เกี่ยวก็คงไม่ต้องติดตั้งชุดแก้บั๊กลงไปก็ได้ แต่ถ้าจะให้ปลอดภัยและมั่นใจเต็มร้อยละก็ติดตั้งลงไปจะดีกว่า เสียเวลานิดเดียวเอง ดีกว่าเสียใจภายหลัง
Services Pack สำคัญที่ผมเองแนะนำให้ติดตั้งเสมอ มีดังต่อไปนี้ Windows 95 Service Pack 1 (สำหรับวินโดวส์ 95 ภาษาไทยต้องติดตั้ง Services Pack Thai Edition) MS Office 95 Services Pack, Windows NT 4.0 Server. Services Pack. รวมไปถึง IOSUPD.EXE สำหรับแก้ไขปัญหา I/O Stream ของวินโดวส์ 95 ด้วย เท่าที่นึกได้ตอนนี้ก็มีเท่านี้แหละ
ข้อควรระวังเกี่ยวกับการติดตั้งชุด Services Pack ควรให้ความระมัดระวังเกี่ยวกับซอฟต์แวร์อะไรก็ตามที่มีชื่อลงท้ายว่า Thai Edition อันหมายความว่าเป็นเวอร์ชั่นภาษาไทย ซึ่งถูกนำมาเปลี่ยนแปลงบางส่วนเพื่อให้ทำงานกับระบบภาษาไทยได้สมบูรณ์ การอัปเดทจะไม่สามารถนำเอา Services pack ที่เป็นภาษาอังกฤษมาติดตั้งได้ ปกติเวอร์ชั่นมาตรฐานของซอฟต์แวร์ต่างๆ คือเวอร์ชั่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งมักมีชุด Services Pack หรือชุดแก้บักก่อนเวอร์ชั่นอื่นๆ
การอัพเดทไบออส หรือที่เรียกว่าการ Flash BIOS ก็เป็นการแก้บั๊กประการหนึ่งเช่นเดียวกัน แต่รายละเอียดจะไม่นำมากล่าวไว้ที่นี้ เนื่องจากมีบทความแยกเฉพาะสำหรับ การอัพเดทไบออส โดยการ Flash แยกไว้ต่างหาก
วันอาทิตย์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น